ข่าวประชาสัมพันธ์

'ระบบตรวจจับสิ่งอุดหลอดเลือดสมอง'

Post Title

รายละเอียด

ม.ธรรมศาสตร์พัฒนา 'ระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมอง'
 
การทำงานเร่งรีบ เครียด บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย
สูบบุหรี่ นับเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 
ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 6 ล้านคนต่อปี 
หรือเฉลี่ย 1 คนใน 6 วินาที โดยหลอดเลือดสมองที่ตีบหรืออุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตกปริ
หรือฉีกขาดทำให้สมองส่วนที่ขาดเลือดไม่สามารถทำงานได้จนอาจทำให้เกิดความพิการ 
และรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษา 
คือ การทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ
ที่สามารถทำให้เนื้อสมองในบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้
 
การตรวจว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ด้วยการวัดความเร็วของเลือดในหลอดเลือดสมอง
และตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ 
TCD (Transcranial Doppler Ultrasound) ซึ่งเป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดภายในหลอดเลือดแดงในสมอง
ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ระบบตรวจจับของเครื่อง TCD 
ที่ใช้งานตามโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่สามารถวินิจฉัยแบบทันเวลา
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและตรวจรักษา และอาจเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต 
ทำให้ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
พัฒนาผลงาน "ระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติด้วยสัญญาณ "TCD" ขึ้น
ที่สามารถตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองแบบทันเวลา (real-time) ที่มีประสิทธิภาพ
สูงกว่าระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองที่มีในปัจจุบันทำให้ผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัล
เหรียญทองเกียรติยศจากงาน 43 rd International Exhibition of Inventions of Geneva 
ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
 
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต กล่าวว่า "คณะ ผู้วิจัยตระหนักถึงความสำคัญ
นการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองให้ทันท่วงทีเพื่อป้องกันความสูญเสีย
ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้ป่วยได้ และเล็งเห็นว่ามีช่องว่างที่จะสามารถพัฒนาระบบการตรวจ
ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ จึงพัฒนาระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมอง
อย่างอัตโนมัติด้วยสัญญาณ TCD ขึ้นมา โดยระบบนี้สามารถตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลุดเลือด
ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยค่าความไวไม่น้อยกว่า 99% 
และค่าความจำเพาะไม่น้อยกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นระบบสนับสนุนแพทย์
ในการเฝ้าระวังสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหัตถการหลอดเลือดสมอง
 เช่น การตรวจหรือขยายขนาดหลอดเลือดสมอง รวมทั้งใช้ในการตรวจคัดกรอง
สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง"
 
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้สร้างแบบจำลองในการตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองแบบทันเวลา 
โดยวิธีการสกัดและเลือกลักษณะเด่นผ่านแบบจำลอง เพื่อให้จดจำและสามารถตรวจจับ
พร้อมแยกแยะระหว่างสัญญาณสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองและสัญญาณ สิ่งแปลกปน 
โดยทำการทดสองแบบจำลองจนกว่าจะมีความผิดพลาดในการตรวจจับน้อยที่สุด
จากนั้นทำการคำนวณค่าความไวและค่าความจำเพาะเฉลี่ย
 
"ระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติด้วยสัญญาณ TCD 
ได้รับการออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่อง TCD ทุกรุ่นที่มีใช้อยู่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่
ของประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำระบบไปปรับใช้ได้ทันที
เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยแพทย์ที่ห่างไกล
และขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย 
และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นงานวิจัยที่มุ่งเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยแท้จริง" 
รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวสรุป
 
แหล่งที่มา : http://www.ryt9.com/s/bmnd/2226616